อาทิตย์ที่ผ่านมา ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งกินเวลานานกว่า 13 ชั่วโมงนั้น เพื่อไม่ไห้การเดินทางน่าเบื่อเกินไป ผมจึงได้เตรียม ไฟล์เสียงของหนังสือเรื่อง”โลกแบน” (The world is flat) ติดไปฟังด้วย หลังจากที่ได้ฟังกลับไปกลับมาหลายรอบ ก็ได้ข้อคิดหลายอย่างที่น่าสนใจ ยิ่งเมื่อมาพบว่ามีการแปลหนังสือเล่มนี้ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และท่านรองนายกฯ สมคิด กำลังคิดจะเชิญผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาบรรยายให้ฟังด้วย ก็เลยรีบนำมาเล่ากันฟังเสียก่อนล่วงหน้าไปเลย
หัวใจสำคัญที่ผู้เขียนหนังสือจงใจใช้คำว่า “โลกแบน” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว “โลกกลม” ก็คือ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ รู้สึกว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานได้หลายๆ อย่าง และการสื่อสารที่รวดเร็ว และมีราคาถูก ทำให้การติดต่อสื่อสาระหว่างกัน ทำได้ง่าย และเกือบจะทำได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีอุปสรรค์ด้านระยะทางอีกต่อไป คนในประเทศหนึ่ง ก็สามารถทำงานกับคนที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ซึ่งก็เปรียบแล้วเหมือนกับว่าโลกที่เคยกลมกำลังถูกทำให้แบนลงทุกวันนั่นเอง เช่น ในทุกวันนี้ ถ้าใครอาศัยอยู่ที่อเมริกา และซื้อคอมพิวเตอร์ เดลล์ มาใช้ ถ้าเครื่องมีปัญหา และยกโทรศัพท์ไปถามทางบริษัทฯ แล้ว คนที่รับสายเพื่อคอยตอบปัญหาของคุณ จะเป็นคนอินเดีย ที่ทำงานอยู่ในประทศอินเดียนะครับ ไม่ใช่ฝรั่งที่อาศัยอยู่ในอเมริกาด้วย
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ ถ้าถึงช่วงเวลาที่จะต้องเสียภาษีแล้ว หากจ้างบริษัทฯ มาเตรียมเอกสารให้ คุณเชื่อหรือไม่ว่า คนที่เตรียมเอกสารเพื่อเสียภาษีให้คุณนั้น เขาจะส่งไปให้คนที่อาศัยอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์เตรียมให้ แล้ว ส่งเอกสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ตกลับมาให้แทน
ตัวอย่างสุดท้ายที่น่ามหัศจรรย์มากก็คือ บริษัทที่ทำหนังการ์ตูนอเมริกานั้น เวลาทำหนังนั้น เขาจะกระจายงานออกเป็นส่วนๆ แล้ว ส่งงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปยังนักวาดการ์ตูนทั่วโลก ให้แต่ละคนทำงานที่ประเทศของตัวเอง เมื่อเสร็จงานแล้ว ก็ส่งงานกลับมาที่อเมริกา เพื่อรวมกันเป็นหนังหนึ่งเรื่อง (ที่รู้มา บริษัทฯ คนไทย ก็ได้งานพวกนี้ด้วยเหมือนกัน)
เนื้อหาที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกมาก แต่สิ่งสำคัญที่อยากมาเล่าให้ฟังตอนนี้ก็คือ ในอนาคตที่ไม่ไกลจากนี้ การแข่งขันกันทางธุรกิจนั้น จะไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครมีบริษัทฯ ที่ใหญ่ กว่า ใครมีพนักงานมากกว่า หรือ ใครมีเครื่องจักรมากกว่าอีกต่อไปแล้ว ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดในอนาคตก็คือสิ่งที่อยู่ใน “สมอง” หรือเรียกภาษาวัยรุ่นหน่อยก็คือ “กิ๋น” นั่นเอง เพราะต่อไปนี้ การทำธุรกิจอะไรสักอย่างนั้น ถ้าคุณคิดรูปแบบของธุรกิจได้แล้ว สิ่งที่เหลือต่อจากนั้น คุณสามารที่จะทำได้ด้วยการ “out source” และ “supply chain” เกือบทั้งหมด โดยแต่ละส่วนจะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้
เพื่อให้เห็นภาพที่สุด ลองสมมุติว่า คุณคิดจะทำธุรกิจขายเครื่องฟังเพลงแบบ mp3 ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นดู เพราะเห็นว่าตลาดน่าจะดีในอนาคต ถ้าเป็นการทำธุรกิจแบบเดิม คุณอาจต้องทำเรื่องขอเงินกู้จากธนาคารเพื่อนำเงินมาสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร และเป็นทุนในการทำตลาด เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ทรัพยากร เวลา และเงินทุนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเป็นการทำธุรกิจในยุคของ “โลกแบน” แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ เก็บกระเป๋า และเดินทางไปเมืองจีน เพื่อมองหาโรงงานในเมืองจีน ที่มีเป็นร้อยๆ โรงงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อตกลงเจรจาให้ผลิตเครื่องตามแบบที่คุณต้องการ โดยใช้ตราสินค้า และแบบกล่องของคุณเอง โดยออกแบบคุณก็สามารถจากนักออกแบบอิสระมาทำให้ หลังจากนั้น ก็ติดต่อนักออกแบบเว็บเพจมาทำเว็บไซต์ให้ โดยให้สามารถซื้อขายแบบออนไลน์ได้เลย เมื่อลูกค้าสั่งของมา คุณก็ทำสัญญากับบริษัทขนส่ง ให้นำสินค้าไปส่งลูกค้าได้ทันที สิ่งเดียวที่คุณต้องลงทุนแน่ๆ ก็คือ ตัวคุณเอง และพนักงานอีกหนึ่งคน มาคอยรับโทรศัพท์ที่สำนักงาน
โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก การทำธุรกิจก็เช่นกัน หากไม่อยากตกยุค ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ทางด้านนี้ให้มาก และต้องพยายามปรับปรุงองค์การให้มีขนาดเล็ก และคล่องตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความคิดที่ว่า “ทำทุกอย่างเองทั้งหมด” ไปไม่รอดแน่ ยุคนี้ ใคอยากรุ่ง ต้อง “แบ่งงานที่ไม่ถนัดให้คนอื่นช่วยทำ” และเลือก “ทำเฉพาะในส่วนที่สำคัญ” เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น