วันพุธ, พฤศจิกายน 19, 2551

ไปสัมมนาที่ฟินแลนด์ ตอน 4 (จบ)

วันนี้ เป็นวันสุดท้ายของการสัมมนา ทางเจ้าภาพเลยจัดรายการพิเศษให้ผู้เข้าสัมมนา โดยการงดประชุมในช่วงเช้า และพาพวกเรานั่งรถบัสไปชมเมืองแทน โดยเป็นการทัวร์แบบสั้นๆ เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่นับว่าคุ้มค่ามากทีเดียว เพราะเมือง Helsinki นี้ แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีการจัดเมืองได้สวยงามมาก และมีสถานที่น่าสนใจมากเช่นกัน โดยมีทะเลล้อมรอบ และมีตึกรูปร่างแบบยุโรปสวยๆ หลายแห่ง พวกเราก็เลยมีโอกาสถ่ายรูปกันเต็มที่ จะได้เป็นหลักฐานว่ามาแล้ว

ตอนบ่าย เขามีการสรุปการสัมมนาอีกนิดหน่อย แต่ดูเหมือนทุกคนจะไม่ค่อยสนใจกันมากแล้ว เพราะเหนื่อยจากการประชุมหนักๆ มาสองวันเต็มๆ แล้ว หลังจากนั้น ตอนประมาณ 4 โมงเย็น เจ้าภาพก็พาพวกเราไปดูการทำงานของ ส.ส. ในสภา ผมรู้สึกตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ เพราะอยากรู้มานานแล้ว ว่า ส.ส. ของประเทศอื่นๆ เขาทำงานกันอย่างไร ? เริ่มต้น เขาก็พาพวกเราไปชมห้องทำงาน ห้องรับประทานอาหาร และ ตึกต่างๆ ในบริเวณรัฐสภาก่อน สภาพภายใน แม้จะเก่า แต่ก็ดูขลังดี พอได้เวลา เขาก็พาพวกเขาเขาไปในสภา โดยจัดให้พวกเรานั่งในส่วนของผู้สังเกตการณ์ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ มีประชาชน ชาวฟินแลนด์ มาชมการทำงานเยอะมาก และเจ้าหน้าที่เขาก็บริการเป็นอย่างดี สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ในสภาแห่งนี้ เขาใช้ภาษาทางการ สองภาษาคือ ภาษาฟินแลนด์ และภาษาสวีเดน เนื่องจากฟินแลนด์ เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของสวีเดนและรัสเซียมาก่อน ดังนั้น จึงยังมีคนบางส่วนใช้ภาษาสวีเดนบ้าง

เมื่อพวกเราเข้าไปฟังการประชุม เขาจะมีล่ามแปลแบบทันที เป็นภาษาัอังกฤษให้เราฟัง โดยมอบหูฟังแบบไร้สายให้คนละอัน เมื่อเริ่มการประชุม รูปแบบก็คือ ฝ่ายค้านลุกขึ้นถาม และฝ่ายรัฐบาลลุกขึ้นตอบแบบทันที โดยในการประชุม นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี มากันพร้อมหน้าพร้อมตาเลย และทุกคนดูเหมือนจะมีความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะสามารถโต้ตอบข้อมูลกับฝ่ายค้านได้แบบหมัดต่อหมัด โดยไม่ต้องมีผู้ช่วยเลย ผิดกับของเมืองไทย ที่รัฐมนตรี จะมาตอบเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น และการตอบแต่ละครั้ง ข้าราชการชั้นผู้น้อยจะต้องเตรียมมาให้อย่างดีด้วย

นั่งฟังเขาสักครู่ ก็เดินกลับเข้าห้องประชุมอีกครั้ง เพื่อทำการสรุปเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาในรอบสามวัน หลังจากนั้น ก็มีการเลี้ยงอำลากันนิดหน่อย ก็แยกย้ายกันเดินกลับไปที่โรงแรม ส่วนใหญ่แล้ว เกือบทุกคน จะค้างอีกหนึ่งคืน ส่วนผมแย่หน่อย ต้องกลับภายในคืนนั้นเลย

วันอังคาร, พฤศจิกายน 18, 2551

ไปสัมมนาที่ฟินแลนด์ ตอน 3



วันนี้ พวกเราต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษ เพราะทางเจ้าหน้าที่บอกว่า พวกเรามีนัดกับคณะกรรมาธิการชุดสำคัญชุดหนึ่งในช่วงเช้า เป็นคณะกรรมาธิการที่ฟินแลนด์ภาคภูมิใจมาก ชื่อว่า Committee of the Future หรือ จะแปลง่ายๆ ว่า คณะกรรมาธิการแห่งอนาคต คนที่มานำเสนอนั้น เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่ง ดูท่าทางเป็นหนุ่ม อายุไม่เกิน 40 กว่าๆ เขานำเสนอได้น่าสนใจ โดยหลักการของเขาก็คือ เขาบอกว่า ฟินแลนด์ต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตในอีก 50 ปีข้างหน้า เพราะความเปลี่ยนแปลงในอนาคตนั้น ความไม่แน่นอนสูงมาก และประชากรของเขาก็มีแต่ผู้ใหญ่ และถ้าเขาไม่เตรียมพร้อมให้ดี อีกหน่อยเขาก็จะไม่มีคนในวัยทำงานเหลืออีกต่อไป และคงต้องนำเข้าแรงงานจากต่างชาติเป็นแ่น่ พวกเราหลายคนก็ถามคำถามหลายคำถามที่น่าสนใจก็คือ ปรกติแล้ว การตรวจสอบมักจะตามหลังสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ถ้าเรากำลังคิดถึงสี่งที่เกิดขึ้นในอนาคตแล้ว เราจะตรวจสอบหรือออกกฏหมายมาควบคุมได้อย่างไร

แขกรับเชิญของเราอีกท่านหนึ่ง เป็นประธานคณะกรรมาธิการที่ชื่อว่า Public Account Committee. (PAC) ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการสัมมนาครั้งนี้เลย โดยได้มีการสรุปการทำงาน และบอกให้พวกเราทราบแนวทางการดำเนินการต่างๆ เป็นอย่างดี โดยสรุปก็คือ หน่วยงานนี้ จะทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินของรัฐอย่างเข้มงวด หลังจากนำ่เสนอแล้ว พวกเรา็ก็ถามกัน ที่แปลกก็คือ ส.ส. ท่านนี้ ท่านฟังและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเตรียมล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกที ทำให้การสื่อสารค่อนข้างทำได้ลำบากนิดหน่อย

แค่สองคน ก็กินเวลาไปครึ่งวันแล้ว เราพักเที่ยงกัน ด้วยอาหารง่ายๆ (ปลา) เหมือนเคย วันนี้ค่อนข้างสบายหน่อย เพราะไม่มีการเลี้ยงรับรองเหมือนเมื่อวาน

สำหรับในช่วงบ่าย เป็นการสัมมนาเรื่องของบทบาทของหน่วยงานพิเศษ หรือ หน่วยงานอิสระ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมาณของรัฐ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันมากพอสมควร แต่ส่วนใหญ่แล้ว เกือบทุกประเทศจะมีกลไกการตรวจสอบเหมือนๆ กัน จะแตกต่างก็เพียงรายละเอียดปลีกย่อย

หลังจากพักทานกาแฟ และขนมว่างแล้ว ก็มาถึงตอนสำคัญ เพราะผมจะต้องนำเสนอรายงานเกี่ยวกับประเทศไทยด้วย โดยในอีเมล์ก่อนที่ผมจะมานั้น เขาขอให้ผมนำเสนอเีกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ประมาณ 10 นาที ผมก็เตรียมนำเสนอด้วย power point ผ่านคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี การนำเสนอครั้งนี้ ค่อนข้างทำให้ผมรู้สึกครึ้มอกครึ้มใจไม่น้อย เพราะผมจะนำเสนอให้ฝรั่งฟังซะด้วย ผลการนำเสนอเป็นไปอย่างเรียบร้อย หลายคนมีคำถามตามมามากมาย

ตกเย็น ประธานคณะกรรมาธิการที่นำเสนอมาตอนเช้า ก็เสนอตัวมาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเย็นให้กับพวกเรา โดยเลี้ยงที่ร้านอาหารชื่อดัง โดยชุดอาหารก็เหมือนเดิม สลัด ปลา และ อาหารหวาน กว่าจะเสร็จก็ประมาณ 3 ทุ่มกว่าๆ ก็กลับถึงโรงแรม

วันจันทร์, พฤศจิกายน 17, 2551

ไปสัมมนาที่ฟินแลนด์ ตอน 2


เช้่าวันที่ 11 เป็นวันแรกของการสัมมนา พวกเราลงมาอยู่พร้อมหน้ากัน ที่ Lobby ของโรงแรมตามเวลา 8.45 ที่กำหนดไว้ อากาศข้างนอกวันนี้ประมาณ 6 องศา มีฝนตกเล็กน้อย เมื่อมากันครบ ก็มีเจ้าหน้าที่พาเดินนำหน้าไปที่รัฐสภา ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 400 เมตรเท่านั้น เนื่องจากอากาศหนาว และผู้เข้าสัมมนาส่วนใหญ่มาจากประเทศในเขตร้อน ก็เลยหาเสื้อผ้ามาใส่กันเต็มที่ ออกเดินกันประมาณ 10 นาที ก็ถึงห้องสัมมนา พอเข้ามาในห้อง อากาศก็ปรับให้อุ่นทันที ทำให้เราต้องถอดเสื้อกันหนาวออกมาแขวนไว้แทน ก่อนที่จะเข้าประชุม ตามเวลา 9.00 น.

บรรยากาศของห้องประชุม จัดได้น่าสนใจมาก เพราะเป็นห้องขนาดใหญ่ และมีโต๊ะกลมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง โดยมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ระดับนานาชาติได้เลย ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า ส่วนใหญ่เขาจะใช้ประชุมคณะกรรมาธิการของยุโรปเป็นประจำ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนเข้าประชุมใหญ่

การประชุมเปิดฉากด้วยการแนะนำหัวข้อการสัมมนาว่า ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และรูปแบบการดำเนินการ จะเริ่มต้นด้วยการให้วิทยากร นำเสนอเรื่องต่างๆ ให้ทราบก่อน โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้น จะปล่อยให้ผู้เข้าสัมมนาแสดงความคิดเห็น โดยให้พูดผ่านผู้ดำเนินการเพียงคนเดียวเท่านั้น หลังจากนั้น ก็จะปล่อยให้วิทยากรตอบคำถามต่างๆ จนครบเวลา เป็นอันจบรายการ หลังจากนั้น ก็จะปล่อยให้ออกไปพักประมาณ 15 นาที ต่อจากนั้น ก็จะเข้าสู่หัวข้อต่อไป

สิ่งที่ได้จากการสัมมนาในวันนี้ก็คือ ทาง World Bank ได้มีการทำวิจัยในระดับโลก โดยมีการสำรวจและติดตามการทำงานของรัฐสภาต่างๆ ทั่วโลก และได้บทสรุปว่า ยิ่งในประเทศที่มีการตรวจสอบของรัฐสภาน้อยเท่าไหร่ โอกาสที่ประเทศนั้นๆ จะมีการทุจริตยิ่งมากขึ้นตามลำดับ สิ่งหนึ่งที่ทาง World Bank พยายามอยากให้้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ก็คือ คณะกรรมาธิการที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Public Account Committee (PAC) โดยในที่สัมมนา มีเพียงประเทศไทย และอินโดนีเซียเท่านั้น ที่ยังไม่มีคณะกรรมาธิการในลักษณะนี้

รูปแบบการสัมมนาจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดทั้งวันจนเย็น ไปจบลงที่ประมาณ 5 โมงเย็น โดยในช่วงพักเที่ยง รองประธานสภาของฟินแลนด์ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งรูปแบบอาหารทีนี่จะเป็นอย่างเรียบง่าย เริ่มต้นที่สลัด ตามด้วยอาหารหลัก และจบลงด้วยของหวานและกาแฟ เป็นอันจบ ที่แปลกไปก็คือ เขาเีลี้ยงด้วยเนื้อกวาง มื้อค่ำ ก็มีการเลี้ยงรับรองที่ภัตตาคารด้วย แต่ผมขอตัว เพราะรู้สึกค่อนข้างเหนื่อย และยังผิดเวลาอยู่ จึงขอตัวเข้าที่พักแต่หัวค่ำ

สิ่งที่น่าสังเกตในวันนี้ก็คือ ตลอดการประชุม ตั้งแต่เช้าจนถึงตอนเย็น และตลอดเวลาที่อยู่ในรัฐสภาของฟินแลนด์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโทรศัพท์มือถือชื่อดัง Nokia แต่ผมไม่เคยเห็น หรือได้ยินเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งต่างกันลิบลับกับเมืองไทย ที่คนหนึ่งมีมือถือคนละเครื่องสองเครื่อง และมีการโทรเข้า โทรออก ตลอดเวลา

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 16, 2551

ไปสัมมนาที่ฟินแลนด์



ช่วง 10-14 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ผมในฐานะของเลขานุการ ได้รับมอบหมายจากท่านประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ (คุณอิสระ สมชัย) ให้ไปร่วมสัมนาในต่างประเทศ ชื่อว่า Accountability and Parliamentary Oversight ที่ประเทศฟินแลนด์ งานนี้ World Bank Institute และ Parliament of Finland เป็นเจ้าภาพร่วมกัน โดยเชิญตัวแทนในระดับ ส.ส. และ ส.ว. จากประเทศต่างๆ รวม 8 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ปากีสถาน ไนจีเรีย ฯลฯ รวม 25 คน ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และ อาหารทุกมื้อได้ีรับการสนับสนุนจาก World Bank Institute.

ที่ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้ก็คือ ในโลกยุคอินเตอร์เน็ต การติดต่อทั้งหมดทำผ่านอีเมล์เพียงอย่างเดียว ไม่มีการพูดคุย ไม่มีการเห็นหน้า และไม่มีการส่งเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น

การเดินทางเริ่มจากเที่ยงคืนกว่าๆ ของวันที่ 9 จากสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเกือบ 11 ชั่วโมง จึงถึงเมือง Helsinki ซึ่งเป็นเมืองหลวงของฟินแลนด์ บรรยากาศที่สนามบินเงียบมาก พิธีการตรวจเข้าเมืองรวดเร็วมาก เพระไม่มีเอกสารให้กรอกเลย ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ทุกอย่างก็เรียบร้อย เมื่อออกมาจากสนามบินแล้วว ไม่มีใครมารับตามคาด ต้องเรียกรถ Taxi ไปโรงแรมเอง ด้วยค่าโดยสารประมาณ 35 ยูโร (คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1400 บาท) เมื่อถึงแล้ว เขาส่งเอกสารมาให้กรอกแผ่นหนึ่ง พอกรอกเสร็จ ก็ส่งคืนให้ พนักงานนำไปกรอกใส่คอมพิวเตอร์สักนาที ก็หันหน้ามาบอกว่า ทุกอย่างเรียบร้อย ให้เอกสารมาแฟ้มหนึ่งพร้อมร่มหนึ่งคัน โดยไม่ยอมเสียเวลาแม้จะชำเลืองดู passport เลย เวลาในขณะนั้นราวๆ 7 โมงเช้าของวันที่ 10 แต่เขานัดหมายให้ไปพบเจ้าหน้าที่และผู้ร่วมสัมมนาต่อน 6 โมงเย็น หลังจากเก็บของเข้าที่แล้ว ตั้งใจจะพักงีบสักหน่อย แต่เนื่องจากเวลาที่นี้ ช้ากว่าที่เมืองไทย 6 ชั่วโมง จึงหลับไม่ลง ต้องออกไปเดินเล่น เพื่อชมบ้านเมืองเขาสักหน่อย

เมื่อใกล้ถึงเวลานัดหมาย ผมก็จัดการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวให้เรียบร้อย และไปที่ห้องอาหารตามเวลาที่นัดไว้ สิ่งที่พบช่วยให้ผมรู้สึกดีมากก็คือ ผมได้พบกันคนไทยอีกคน คือ ดร. ชัยวัตน์ ค้ำชู ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันพระปกเกล้า ทำให้ไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นคนไทยคนเดียวอีกต่อไป นอกจากนี้ ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ก็ทยอยมาตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ จะเป็น ส.ส. วุติสมาชิก และเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประเทศ เกือบทุกประเทศมากันอย่างน้อย 3 คน ยกเว้นจากประเทศไทยที่มาแค่ 2 คน สำหรับเจ้าหน้าที่ของ Word Bank คือ คุณ ริกซ์ (Rick) เจ้าหน้าที่ของรัฐสภาของฟินแลนด์ คือ คุณ กาย (Guy) ซึ่งงานเลี้ยง เป็นลักษณะของงานรับรอง เรียบง่าย มีอาหารว่าง เล็กๆ น้อยๆ มาให้ชิมกัน เราสองคนอยู่กันสักชั่วโมง ก็ขอตัวเข้าห้องพัก

ทั้งหมดเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการของวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 ต่อไป ก็จะเข้าสู่การสัมมนาอย่างจริงๆ จังเสียที

วันนี้ พอแค่นี้ก่อน แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไป สวัสดีครับ